สายเจควรรู้กับเทศกาลกินเจ
14 ตุลาคม ถึง 23 ตุลาคม 2566
ประวัติการ''กินเจ''
คำว่า เจ เป็นภาษาจีนมาจากคำว่า “ไจ” ซึ่งเป็นภาพตัวอักษรจีน เขียนด้วยสีแดง ซึ่งเป็นสีแห่งความเป็นสิริมงคล ในกรอบสีเหลี่ยมจัตุรัส พื้นมีสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งความเป็นกษัตริย์ คำว่า “เจ” และ “ไจ” ดังกล่าวแปลว่า “ปราศจากการทำลายชีวิตและปราศจากของที่มีกลิ่นคาว” ความหมายมาจาก คำสั่งสอนที่ได้มาจากพุทธศาสนาฝ่ายนิกายมหายาน
คำดั้งเดิมของ “เจ” หมายถึง “อุโบสถ หรือ การรักษาศีล 8” คือคนกินเจมักจะถือศีล ร่วมกับการไม่กินอาหารพวกเนื้อสัตว์ อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงโดยปราศจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งไม่มีส่วนประกอบอื่นใดที่นำมาจากเนื้อสัตว์ทุกประเภท ทั้งสัตว์เล็กและใหญ่ สัตว์บกหรือสัตว์น้ำใดๆ จึงมีคำกล่าวว่า “กินเจหนึ่งมื้อ หมื่นชีวิตรอดตาย”
เทศกาลกิจเจจะเกิดขึ้น ในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลลาคมของประเทศไทย ระยะเวลานาน 9 วัน
ความเชื่อของคนจีนที่กินเจว่า การกินเจยังจะต้องไม่กินอาหารที่นำมาปรุงอาหารเจ คือ ต้องงดเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ประเภท ได้แก่
- กระเทียม รวมถึงหัวกระเทียมและต้นกระเทียม
- หอม รวมถึง ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว และ หอมหัวใหญ่
- หลักเกียว มีลักษณะคล้ายหัวกระเทียมโทน ปลูกและแพร่หลาย ในประเทศจีน แต่แพร่หลายมากในประเทศไทย
- ผักกุยช่าย เป็นผักมีใบคล้ายใบหอม แต่ลักษณะแบนและเล็กกว่า
- ใบยาสูบ รวมถึงบุหรี่ ยาเส้นที่ใช้สูบ และของเสพติดมึนเมาผักต้องห้ามดังกล่าวนี้เป็นผักที่มีรสฉุนจัด กลิ่นเหม็นคาวรุนแรง
ตามความเชื่อของ คนจีนมีว่า หากกินพืชผักทั้ง 5 มากๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของร่างกาย จะได้พิษที่ทำลาย พลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย เป็นมูลเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติ นั่นคือ
- กระเทียมจะทำลายธาตุไฟ คือทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ
- หัวหอมทำลายธาตุน้ำ คือทำลายไต
- หลักเกียวหรือกระเทียมโทนทำลายธาตุดินคือม้าม
- กุยช่ายทำลายตับ-ธาตุไม้
- สำหรับใบยาสูบ ทำลายธาตุทองคือปอด ใบยาสูบน่าจะเป็นของสูบระหว่างอาหารมากกว่าเป็นอาหาร
ประเภทการกินอาหารเจ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.อาหารเจบริสุทธิ์
2.อาหารเจแบบดื่มนม
3.อาหารเจดื่มนมและกินไข่ด้วย
นอกจากนี้ คนกินอาหารเจมีเหตุผลถือหลักการว่า ผักผลไม้มีธรรมชาติเป็น “หยาง” ซึ่งหมายถึง “ความสะอาด ความโปร่ง ความแจ่มใส” แต่เนื้อสัตว์มีธรรมชาติตรงข้ามคือเป็น “หยิน” ซึ่งหมายถึง “ความขุ่นมัว ความมืดมิด ความทึบ” ตามธรรมชาติของร่างกายคนเรา มักมีเป็นความหยินมากเกินไป ดังนั้น เราจะต้องเพิ่มความเป็นหยางให้มากขึ้น ผู้ที่บำเพ็ญธรรม จะต้องขจัดสภาวะที่ขุ่นมัว ชำระล้างพิษโดยการกินเจ ชีวิตจึงจะมีสภาวะที่แจ่มใส ควรจะกินอาหาร พืชผักและผลไม้ให้มากขึ้น
ประวัติ
อาหารเจ เริ่มต้นเมื่อประมาณสองพันปีมาแล้ว ในราชวงศ์ ของจักรพรรดิฟูซี (Fu Xi) แห่งเมืองซ้องโกะ (Zhong Guo) ซึ่งเคร่งครัดทางศาสนา มีการ กินอาหารเจ และเผยแพร่ลัทธิเต๋าโดยเหล่าจื๊อและขงจื๊อ โดยมีหลักธรรมะของจิตวิญญาณ ภายในร่างกาย การมีชีวิตตามวิถีธรรมชาติด้วยความเมตตาและการบริโภคอาหารเจ นับว่า คนจีนจึงกินอาหารเจมานานหลายพันปีแล้ว อาหารเจเกี่ยวข้องกับศาสนาและการปฏิบัติธรรม มากกว่าเพื่อสุขภาพ จึงมักเรียกติดปากกันว่า “ถือศีลกินเจ” ซึ่งมีความหมายครบถ้วนว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่รักษาศีลความเป็นมนุษย์จะต้องเจริญเมตตาและกรุณา จึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์
ตำนานที่เกี่ยวกับประวัติการกินอาหารเจ
ตำนานกล่าวไว้ว่า ชาวจีนกินเจเป็นการบำเพ็ญกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชนซาวจีน 9 คน ที่เรียกว่า “หงี่หั่วท้วง” ซึ่งได้ต่อสู้กับชาวแมนจูผู้เป็นศัตรูของประเทศอย่างกล้าหาญ ถึงแม้จะแพ้และถูกฆ่าตายหมดก็ตาม
ชาวบ้านได้พากันถือศีลกินเจ นุ่งขาวห่มขาว เพราะเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชำระจิต วิญญาณและเกิดความเข้มแข็งทางร่างกายและจิตใจ
อีกตำนานหนึ่งกล่าวไว้ว่า เทศกาลกินเจจึงเป็นการประกอบพิธีกรรมสักการะบูชาและขอพรจากพระมหาโพธิสัตว์รวมกันครบทั้งหมด 9 พระองค์ด้วยกัน เรียกกันว่า “เก้าอ๊อง” ผู้ถือศีลกินเจมีความเชื่อว่าการบำเพ็ญศีลและงดเว้นเนื้อสัตว์ ในเทศกาลเจช่วง 9 วันดังกล่าวจะได้บุญสูงสุด จะส่งผลให้ชีวิตตนเองประสบความสุขความเจริญ มีสุขภาพดีและเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป